ตอนที่3

 มีคำเมือง(คำภาษาพายัพหรือล้านนา-ผู้คัดลอก)เก่าแก่อยู่คำหนึ่งว่า "มาย" แปลว่า "คลี่,คลาย,ขยาย" ตัวอย่างเช่น เวลากินข้าวอิ่ม "ต้องมายสายฮ้าง" แปลว่า "ต้องคลายเข็ดขัด" ในพจนานุกรมภาคอีสาน - ภาคกลาง ให้ความหมายไว้ว่า "มาย ก.คลี่ออก, ขยายออก (-คลาย) (ภาคกลางแผลงเป็น "มลาย") 

            "มาย" คำนี้ ในภาคอีสานเขาใช้กันอยู่เป็นประจำวันก็ว่าได้ เช่น ไหมหรือด้ายมันพันกันยุ่งจนเป็นก้อนกลม แม่จะบอกพวกเด็ก ๆ ว่า "เอาไปช่วยกันมายหน่อย" คือให้เอาไปช่วยกันสางออก, แก้ออก, คลายออกจากกลุ่มที่พันกันยุ่งนั้น หรือ "มายเชือก" คือ ให้ดึงปลายเชือกออกจากขดหรือม้วน หรือเวลาเราเอาหวายพันขาเก้าอี้ไว้แล้วกลับมาดู ปรากฏว่ามันหลุดลุ่ยคลายออกเพราะพันไว้ไม่แน่น เขาจะพูดกันว่า "มันมายออก" หรือเวลาอากาศหนาวจัดมาก มือไม้เป็นเหน็บเย็นเฉียบ ชาวอีสานเขาเอามือไปอังไฟ สักครู่ เขาจะพูดว่า "เออ! ค่อยมายออกหน่อย" คือจะแบมือเหยียดออกก็ค่อยคล่องขึ้น 

            คำผญาของชาวอีสาน หนุ่มจีบสาว เขาถ่อมตัวว่า "บุญบ่ฮอด ยอดบ่เกี้ยว แสนสิฝั้นก็เล่ามาย" เอาความว่า "บุญเขาไม่ถึง สุดไขว่คว้า เปรียบเหมือนพยายามฟั่นด้ายให้เป็นเกลียว แต่มันก็คลายออกอยู่ร่ำไป" 



            ฉะนั้นการที่เราเรียกสระไอว่า"ไม้ม้วน" เพราะปลายของสระนี้ม้วนเข้า ส่วน สระไอ ขอสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเรียกว่า "ไม้มาย" เพราะปลายของสระนี้คลี่, คลาย ออก เป็นการตรงกันข้ามกับสระไอ(ไม้ม้วน) 

            สมัยก่อนไทยเรานิยมยกย่องภาษาเขมรว่าเป็นภาษาชั้นสูง มีกฏมีเกณฑ์และมีความไพเราะ จึงนำมาใช้ประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าคำ โดยมากคำเขมรมักจะเป็นคำแผลง เช่น "เกิด" เป็นคำกริยา แผลงเป็นคำนาม "ก็อมเนิด" (การเกิด,ที่เกิด), แผลงเป็นคำกริยาการีต "บ็องเกิด" (ทำให้เกิด คือ คลอดลูก) หรือคำว่า "เพ็ญ" เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า "เต็ม" แผลงเป็นคำกริยาการีต "บ็อมเพ็ญ" แปลว่า "ทำให้เต็ม" เหล่านี้เป็นต้น 

            ไทยเราก็เอาวิธีแผลงคำของเขมรมาใช้แผลงคำไทยบ้าง เช่น ถก แผลงเป็น "ถลก", เม็ด - เมล็ด, แมง - แมลง, แข็ง - กำแหง (-กำแหง, แข็งแรง, กล้าแข็ง,เข้มแข็ง), ชาย - ชม้าย, ลังเลือง - มลังเมลือง, (-สุกใส, อร่ามเรือง), มื่น - มลื่น(ผู้คัดลอก), ม้าง (-ล้าง,ทำลาย, รื้อ) - มล้าง (-ม้าง,ล้าง,ฆ่า,ผลาญ) ดังนั้น "ไม้มาย" ซึ่งแปลว่า "สระที่มีปลายคลายออก" จึงถูกแผลงเป็น "ไม้มลาย" 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น