"มลาย (มะลาย) ก. แตก, ตาย, ทำลาย"
จะเห็นได้ว่า "มลาย" (ในพจนานุกรม) ไม่ได้แผลงมาจาก "มาย" (ในพจนานุกรม) เพราะ "มาย" เป็นภาษาบาลี "มลาย" เป็นคำไทย และมีความหมายไปคนละทางคนละเรื่อง
ขอสันนิษฐานว่า "มลาย" ในพจนานุกรมที่มีความหมายว่า "แตก, ตาย, ทำลาย" นั้น คงแผลงมาจาก "มาย" ในความหมายเดิมที่แปลว่า "คลี่, คลาย, ขยาย" เหมือนกัน กล่าวคือ เวลาคนตายแล้วทวารทั้งห้าเปิด เช่น ช่องทวารที่เมื่อเจ้าของยังมีชีวิตอยู่ ถูกขมิบไว้อย่างสนิท ครั้นเจ้าของสิ้นชีวิตแล้ว ช่องทวารก็ มาย คือ ที่ขมิบไว้ก็คลายออก ถ้าคนนั้นตายด้วยโรคท้องเดิน อุจจาระไหลออกมาหมด จึงเรียกว่า "ทวารเปิด" ม่านตาก็ มาย ที่เรียกว่า "ม่านตาขยาย" ช่องลำคอที่เคยปิดไว้สนิท ก็ มาย ออก คือเปิดโล่งกรอกน้ำเข้าไปได้อย่างสะดวก กล้ามเนื้อเส้นเอ็นทั้งหลายก็ มาย อวัยวะจึงอ่อนปวกเปียก ถ้าอวัยวะเกิดมีการ "มาย" ขึ้นแล้ว แสดงว่า "ตายสนิท"
ถ้านำศพไปเก็บไว้หรือเอาไปฝัง เนื้อหนังมังสาก็เปื่อนเน่าผุพังสลายตัวไปหมดสิ้น ถ้านำไปเผาซากศพนั้นก็ถูกไฟเผาผลาญวอดวายถูกทำลายหายสูญ กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง "มาย" ซึ่งแผลงเป็น "มลาย" จึงเกิดมีความหมายขึ้นว่า "แตก, ตาย, ทำลาย, สูญหาย"
"มาย" ในพจนานุกรมที่ให้ความหมายไว้ว่า "ตวง, นับ (ป.)" นั้น ไม่มีใครใช้พูดหรือเขียนกัน เพราะเป็นภาษาบาลี ฉะนั้น ทางที่ดีควรแก้ไขเสียใหม่ว่า
"มาย (ถิ่น-อีสาน, พายัพ) ก. คลี่, คลาย, ขยาย"
และควรเพิ่มเติมความหมายของคำ "มลาย" ว่า
"มลาย (มะลาย) ก. แตก, ตาย, ทำลาย, คลี่, คลาย, ขยาย"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น